Skip to main content

11 May 2015 - News

องค์กรพัฒนาเอกชนชี้: วิกฤตการณ์ด้านการศึกษาของเด็กข้ามชาติในประเทศไทยจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขด่วน

งานวิจัยซึ่งจัดทำโดยองค์กรพัฒนาเอกชนระหว่างประเทศ ได้แก่ องค์การช่วยเหลือเด็ก (Save the Children) และองค์การเวิลด์ เอดูเคชั่น (World Education) ชี้ให้เห็นถึงวิกฤตการณ์ด้านการศึกษาของเด็กข้ามชาติในประเทศไทย  

งานวิจัยฉบับนี้ประมาณการว่ามีลูกหลานแรงงานข้ามชาติอาศัยอยู่ในประเทศไทยราว 3-4 แสนคน แต่ในจำนวนนี้ มีเด็กเพียงหนึ่งในสามเท่านั้นที่ได้รับการศึกษารูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง โดยในกลุ่มเด็กที่ได้เข้าเรียนในระดับประถมศึกษา มีเพียงประมาณร้อยละ 4 ที่ได้เรียนต่อในระดับมัธยม ถึงแม้ว่าจำนวนเด็กข้ามชาติในโรงเรียนจะเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากนโยบายการศึกษาเพื่อปวงชน (Education for All) ของรัฐบาลไทย แต่นโยบายนี้ก็มิได้ถูกนำไปปฏิบัติอย่างเสมอต้นเสมอปลายในแต่ละโรงเรียนที่อยู่ในภูมิภาคต่างๆ นอกจากนี้ อุปสรรคอื่นๆของเด็กข้ามชาติ ได้แก่ ข้อจำกัดทางการเงิน อุปสรรคด้านภาษา และการขาดความตระหนักถึงสิทธิของตนเอง

แอลลิสัน เซลโควิทซ์ ผู้อำนวยการองค์การช่วยเหลือเด็ก (Save the Children) ประจำประเทศไทยกล่าวว่า “การศึกษาไม่เพียงเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของลูกหลานแรงงานข้ามชาติเท่านั้น แต่ยังเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้กลุ่มแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยมีทักษะที่ดีขึ้นและรวมเป็นส่วนหนึ่งของสังคมได้สำเร็จ และที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ เด็กข้ามชาติเป็นเหยื่อที่พบเห็นได้บ่อยที่สุดในขบวนการค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นปัญหาร้ายแรงในประเทศไทย การศึกษาจะเป็นกลยุทธ์สำคัญที่จะช่วยคุ้มครองเด็กเหล่านี้ได้”

ในส่วนของเด็กที่ไม่ได้อยู่ในโรงเรียนนั้น ยิ่งเสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ที่จะนำเด็กไปทำงานต่างๆ ที่มีความอันตรายสูง ทั้งในงานก่อสร้าง และงานบริการทางเพศ ประเทศไทยพยายามแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ซึ่งส่วนใหญ่มีเด็กข้ามชาติเป็นเหยื่อ การศึกษาจึงเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการเสริมทักษะและองค์ความรู้แก่เด็กเพื่อปกป้องตนเอง นอกจากนี้ การบูรณาการภูมิภาคอาเซียนจะยิ่งทำให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างประเทศมากขึ้น แรงงานที่สามารถอ่านออกเขียนได้ มีทักษะและมีการศึกษา จึงมีความสำคัญอย่างมากในการสร้างความเข้มแข็งและศักยภาพของเศรษฐกิจไทยและแถบประเทศอาเซียนในวงกว้าง

องค์การช่วยเหลือเด็กได้พัฒนาแผน 3 ข้อ เพื่อแก้ไขวิกฤตการณ์ดังกล่าว โดยเรียกร้องให้รัฐบาลไทยและผู้สนับสนุนเงินบริจาคระหว่างประเทศดำเนินการดังต่อไปนี้:

1.     รวบรวมข้อมูลที่ถูกต้องและทันสมัยเกี่ยวกับจำนวนและที่อยู่ของเด็กข้ามชาติเพื่อที่จะได้มีการจัดสรรทรัพยากรเพื่อการศึกษาของเด็กเหล่านี้อย่างพอเพียง
2.     สร้างความตระหนักและส่งเสริมนโยบายการศึกษาเพื่อปวงชนในโรงเรียน ชุมชน รวมทั้งในหมู่ผู้ปกครอง และเด็กข้ามชาติ
3.     สนับสนุนและใช้แนวคิดริเริ่มในการเตรียมความพร้อมและสนับสนุนเด็กข้ามชาติให้สามารถเข้าถึงและประสบความสำเร็จในด้านการศึกษา

“รายงานฉบับนี้เป็นผลของการศึกษาวิจัยสถานการณ์ด้านการศึกษาของเด็กข้ามชาติในประเทศไทยเป็นระยะเวลาหลายเดือน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า แม้ว่าประเทศไทยจะมีความก้าวหน้าในการจัดการศึกษาให้กับเด็กข้ามชาติ ก็ยังคงมีวิกฤตการณ์ด้านการเข้าถึงการศึกษาของกลุ่มคนเหล่านี้ โดยมีลูกหลานของแรงงานข้ามชาติจำนวนไม่ถึงครึ่งที่ได้เข้าเรียนในโรงเรียน” ทิม เมอเรย์ กล่าวเพิ่มเติม “รายงานฉบับนี้ได้ชี้ให้เห็นถึงอุปสรรคต่างๆที่เด็กๆต้องเผชิญ รวมทั้งให้ข้อเสนอแนะอย่างละเอียดแก่รัฐบาลไทย ผู้สนับสนุนเงินบริจาคและองค์กรพัฒนาเอกชนต่างๆ เราหวังว่างานวิจัยนี้จะนำไปสู่การปรับปรุงด้านการศึกษาที่สำคัญๆ สำหรับเด็กข้ามชาติในประเทศไทยในอนาคต”

เพื่ออนาคตอันสดใสของลูกหลานแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย องค์การช่วยเหลือเด็ก (Save the Children) และองค์การเวิลด์ เอดูเคชั่น (World Education) จึงขอผลักดันให้รัฐบาลไทย ผู้สนับสนุนเงินทุน และองค์กรพัฒนาเอกชนต่างๆ ทำงานร่วมกันเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของการศึกษาสำหรับเด็กข้ามชาติที่อยู่ในประเทศไทย ทั้งในปัจจุบันและอนาคต รวมทั้งเตรียมเด็กเหล่านี้ให้พร้อมสำหรับการกลับสู่ประเทศเมียนมาร์ที่อาจเกิดขึ้นได้ 

อ่านรายงานฉบับย่อได้ที่:https://thailand.savethechildren.net/sites/thailand.savethechildren.net/files/library/Policy%20brief%20in%20Thai%20version-final.pdf

 

###

ทิม เมอร์เรย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา ประจำองค์การช่วยเหลือเด็ก (Save the Children) พร้อมให้ความคิดเห็นเพิ่มเติม

หากสื่อมวลชนมีคำถามหรือต้องการนัดสัมภาษณ์ กรุณาติดต่อ:
ทรงพร ลีลากิตติโชค
เจ้าหน้าที่ประสานงานการสื่อสารและรณรงค์
องค์การช่วยเหลือเด็ก (ประเทศไทย)
อีเมล: bea.leelakitichok@savethechildren.org